วันศุกร์ที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2556

แหล่งเรียนรู้นอกตำรา " มหาวิทยาลัยบ้านนอก บ้านจำรุง "



ความรู้ต่างๆอยู่รอบตัวเรา คนเรานอกจากจะศึกษาหาความรู้จากหนังสือ ตำรับตำราวิชาต่างๆ แล้วก็ยังมีแหล่งการเรียนรู้อีกที่หนึ่งผมขอเสนอคือ  " มหาวิทยาลัยบ้านนอก แห่งบ้านจำรุง
                เมื่อตอนที่ผมอยู่ปี 2 ผมได้มีโอกาสไปศึกษาดูงานนอกสถานที่ตามที่อาจารย์ได้สั่งให้ไปศึกษาดูงานเป็นกลุ่ม โดยสถานที่ที่กลุ่มพวกผมก็ได้เลือกไปคือมหาวิทยาลัยบ้านนอก บ้านจำรุงแห่งนี้ โดยแหล่งการศึกษาหาความรู้จาก มหาวิทยาลัยบ้านนอก บ้านจำรุง ก็มีดังต่อไปนี้
 วิถีชุมชนพึ่งพาตนเอง
ขณะที่หลายคนดิ้นรนจะมาเรียนมหา วิทยาลัยชื่อดังในกรุงเทพฯ แต่ชาวบ้าน จำรุง ต.เนินฆ้อ อ.แกลง จ.ระยอง กลับภูมิใจกับ "มหาวิทยาลัยบ้านนอก" ที่พวกเขาชาวไร่ชาวนาช่วยกันตั้งขึ้น เพื่อเป็นพื้นที่เรียนรู้การเกษตร และวิถีชีวิตที่พึ่งพาตนเองตามธรรมชาติ ในแบบฉบับชาวบ้านแท้ๆ และพัฒนาจนโด่งดัง จนแต่ละวันมีผู้เดินทางมาศึกษาดูงานไม่ต่ำกว่าพันคน ภายในมหาวิทยาลัยบ้านนอก ประกอบด้วยศูนย์รวมผลผลิตทางการเกษตร คือสินค้าของฝาก โอท็อปโบราณ ได้แก่ น้ำพริกกะปิ น้ำปลาดีชั้นหนึ่ง ทุเรียนทอด พืชผัก สมุนไพรพื้นบ้าน รวมทั้งผลไม้ทั้งมังคุด เงาะ สละ แก้วมังกร มะยงชิด ลองกองที่ผิวไม่สวยแต่หวานกรอบ และปราศจากสารเคมี ทั้งยังมีแหล่งผลิตปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ ที่ชาวบ้านร่วมมือกันผลิตใช้เองในหมู่บ้าน แบ่งการศึกษาเป็นโซนต่างๆ เช่น กลุ่มผลิตกะปิ-น้ำปลา กลุ่มเกษตรพื้นบ้าน กลุ่มชาวนา เป็นต้น เพื่อสะดวกต่อการเผยแพร่ให้ความรู้กับผู้มาเยือน
บ้านจำรุง ตั้งอยู่หมู่ 7 ตำบลเนินฆ้อ อำเภอแกลง จังหวัดระยอง ภาคตะวันออกของประเทศไทย ด้วยสภาพความเป็นอยู่ในชุมชม เน้นการพึ่งพาตนเอง จนเป็นที่ยอมรับและเป็นตัวอย่างที่ดี มีผู้มาศึกษาดูงาน แลกเปลี่ยนเรียนรู้ตลอดทั้งปี หมู่บ้านจำรุงส่งเสริมให้ประชาชน ได้นำผักพื้นบ้านมารับประทาน อาทิ ดอกอัญชัน ยอดมะระ ขมิ้นชัน ชะอม ใบชะพลู ใบบัวบก ยอดเสม็ดแดง ฯลฯ ใช้ประกอบเป็นอาหารหลัก รวมถึงชวนเชิญนักท่องเที่ยวที่เข้ามาเป็นลูกค้าของร้านส้มตำจำรุงได้บริโภคผักพื้นบ้านเหล่านี้ จนกระทั่งได้เป็นสัญลักษณ์ของชุมชน ที่นักท่องเที่ยวรู้จักและคุ้นเคย กลุ่มผู้สูงอายุบ้านจำรุงเป็นตัวอย่างของการรวมกลุ่มเพื่อสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์คุณภาพมากมาย อาทิ ผลิตข้าวซ้อมมือบรรจุถุง จำหน่ายในร้านค้าของชุมชน เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดี โดยมีโรงสีข้าวชุมชนเอง มีการผลิตข้าวซ้อมมืออย่างต่อเนื่อง และนำเศษแกลบรำส่งให้กับกลุ่มเกษตรกรพื้นบ้านทำปุ๋ยชีวภาพ และนำปลายข้าวขายให้กับกลุ่มผู้เลี้ยง ตะพาบน้ำ เป็นต้น



มาบ้านจำรุงมีอะไรให้ดูบ้าง
เมื่อมีคนมาศึกษาดูงาน กลุ่ม ผู้ใช้น้ำจะรวมตัวกันทำอาหารเลี้ยง รับรอง โดยใช้ผักพื้นบ้านเป็นอาหารหลัก ให้รับประทาน รายได้นำไปเป็นกองทุนพัฒนาหมู่บ้าน นอกจากนี้บ้านจำรุงยังมีการบริการที่พักชุมชนโฮมสเตย์ ให้กับนักท่องเที่ยว ผู้สนใจในวิถีชีวิตที่เน้นการพึ่งพาตนเอง ได้มาสัมผัสและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน
เรื่องราวที่นักเดินทางอยากเรียนรู้กันมากมีเรื่อง 
1.การจัดการกลุ่ม องค์กร เครือข่าย  ให้เข้มแข็งยั่งยืน  ด้วยปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง  
2.การบริหารจัดการ ตลาดสีเขียว   ที่สร้างกลไกการผลิตเกษตรอินทรีย์และการตลาดให้ยืนติดกัน
3.กลุ่มธนาคารชุมชน  การสร้างพื้นที่การออมให้กับคนเงินน้อย   
4.กลุ่มแปรรูปผลผลิต  ที่นำผลผลิตทุกชนิดมาแปรรูปสร้างรายได้ให้กับทุกคน
5.กลุ่มธนาคารขยะและสิ่งแวดล้อม กำไรคือชุมชนสะอาด มีสุขภาวะ
6.กลุ่มโฮมสเตย์ (มาตรฐานโฮมสเตย์ไทย) ด้วยประสบการณ์ ๑๐ ปีของโฮมสเตย์ต้นแบบประเทศไทย
7.กลุ่มรวมซื้อรวมขายยางพารา  การรวมตัวของเกษตรรายย่อยมากว่า ๑๐ ปี
8.กลุ่มเกษตรพื้นบ้าน  ต้นทางอาหารสุขภาพ มีผักผลไม้ที่ไร้สารเคมี และกระบวนการผลิตพึ่งตนเอง
9.กลุ่มธนาคารต้นไม้และวิถีไม้สามอย่างประโยชน์สี่อย่าง  มีชีวิตที่มั่นคงยั่งยืนด้วยฐานทรัพยากร
10.กลุ่มร้านค้าพอเพียง สินค้าราคาถูกทุกวัน ร้านที่ไม่มีพนักงานขาย สมาชิกทุกคนเป็นเจ้าของต้องซื้อขาย ด้วยตนเอง 
11.กลุ่มสื่อชุมชน  สื่อสี่ชนิด วิทยุชุมชน รายการทีวี เวบไซด์ สิ่งพิมพ์ ที่ชาวบ้านเป็นเจ้าของและบริหารจัดการด้วยกระบวนการกลุ่ม
12.กลุ่มกองทุนสวัสดิการชุมชน ต้นแบบสวัสดิการสามขา ชาวบ้าน ๑ รัฐ ๑ ท้องถิ่น ๑ 
13.กลุ่ม ฒ ผู้เฒ่า ที่นำเอาศิลปะท้องถิ่น ศิลปินพื้นบ้านเล่าขานผ่านการแสดงและถ่ายทอดให้กับเยาวชน
14.กลุ่มเลี้ยงตะพาบน้ำ  ใช้พื้นที่ไม่มากแต่สร้างรายได้มหาศาล
15. กลุ่มอาหารท้องถิ่นไทย อาหารพื้นบ้านรสชาติ อร่อย สุดยอดอาหารเพื่อสุขภาพ









หลักคิดการทำงานของมหาวิทยาลัยบ้านนอก แห่งบ้านจำรุง
" ด้วยศรัทธาและเชื่อมั่นในหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งพวกเราแปลว่า หลักแห่งการพึ่งพาตนเอง พวกเราเชื่อในทุกพระดำรัส และได้ช่วยกันแปลงสู่การปฎิบัติ ทำไปเรียนรู้ไป ผ่านกิจกรรมต่างๆ ในพื้นที่ที่เราอยู่ เริ่มจากเล็กไปหาใหญ่ ง่ายไปหายากช่วยกันคิดช่วยกันบอก จึงทำให้เราค่อย ๆ พึ่งพากันได้มากขึ้น มีความมั่นคงและมั่นใจในการดำเนินชีวิต คาดหวังว่า ถ้าคนไทยทุกคนจะน้อมนำหลัก ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ไปใช้ในชีวิตประจำวัน จนเป็นวิถีของตนเองแล้ว ความอยู่เย็นเป็นสุข จะเกิดกับครอบครัว ชุมชน ประเทศชาติในที่สุด "
ด้วยชุดความรู้กว่า ๓๐ ปี ของคนที่นี่  ที่ต้องการให้  สังคมเป็นสุข  ชีวิตมั่นคง  พึ่งพาตนเองได้  ด้วยหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง  ลองผิดลองถูกจนถึงจุดที่ลงตัวแล้ว  วันนี้กำลังเติบโต  ออกดอกผลและสร้างแรงเหวี่ยงต่อสังคมในวงกว้างมากขึ้น งานฟื้นฟูทรัพยากร คน ดิน น้ำ ป่า  ของเครือข่ายองค์กรชุมชนบ้านจำรุง  ที่ได้รับการสนับสนุนจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน  กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เมื่อ ๑๐ปีที่แล้ว  ถูกผนวกด้วยแนวทางการทำงานของชาวบ้านที่มีประสบการณ์ตรงจากปฏิบัติการจริง  เคลื่อนตัวสู่กลุ่มกิจกรรมที่หลากหลายในพื้นที่การทำงานระดับภูมินิเวศน์ ด้วยแนวทางที่ใช้ กลุ่ม องค์กร เครือข่ายเป็นกลไกขับเคลื่อน   ไม่มีข้อจำกัดแบบเดิม ทำให้พลังของการขับเคลื่อนกำลังสร้างแรงเหวี่ยงไปสู่พื้นที่ข้างเคียง องค์กรปกครองท้องถิ่น และนโยบายของรัฐอย่างต่อเนื่อง
อ้างอิงจาก : www.banjumrung.org

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น